สิ่งประดิษฐ์มีประโยชน์ เพิ่มมูลค่าให้กับขยะไปกับเทรนด์รักษ์โลก

สิ่งประดิษฐ์มีประโยชน์ เพิ่มมูลค่าให้กับขยะไปกับเทรนด์รักษ์โลก

สิ่งประดิษฐ์มีประโยชน์ เพิ่มมูลค่าให้กับขยะไปกับเทรนด์รักษ์โลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้เทรนด์รักษ์โลกนั้นนับว่ามาแรงแซงหน้าเทรนด์อื่น ๆ แบบแทบไม่เห็นฝุ่น เป็นจังหวะที่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคต่างเห็นตรงกันทั้งหมดว่า ถึงเวลาเอาจริงแล้วกับการลดปริมาณขยะที่จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์อื่น ๆ ในธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ทะเล

บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ก็ออกแคมเปญงดแจกถุงพลาสติกและลดการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมที่ย่อยสลายยากและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บางส่วนใช้วิธีการใครอยากได้ถุงก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม บางส่วนก็เปลี่ยนเป็นการใช้กระดาษแทน ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ต่างก็หันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้หลายครั้งมากขึ้น ลดการใช้แบบครั้งเดียวทิ้งลงไปมาก

และวันนี้พวกเรา Tonkit360 จะมาแนะนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งแบบลดขยะจากการทิ้งหรือลดขยะที่มีอยู่แล้วทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละไอเดียเหมาะสมกับการต่อยอดเอามาก ๆ มาดูกันเลย

หยดน้ำกินได้ ไร้ขวดพลาสติก

Ooho Water (อูโฮ) เป็นผลิตภัณฑ์บรรจุน้ำดื่มที่สามารถกินได้และยังย่อยสลายได้รวดเร็วอีกด้วยหากถูกทิ้งตามธรรมชาติ สกัดจากเยื่อหุ้มสาหร่าย ซึ่งผลิตโดยบริษัท Skipping Rocks Lab ที่ใช้เวลาวิจัยนานกว่า 3 ปี หวังทดแทนบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกสำหรับผู้คนทั่วไป นอกจากจะบรรจุน้ำดื่มแล้วยังมีทั้งน้ำผลไม้และซอสปรุงรส อีกด้วย

ภาชนะจากรำข้าวสาลี กินได้!

ภาชนะน่าใช้นี้ ผลิตโดย Biotrem จากโปแลนด์ ที่ผลิตทั้ง จาน ถ้วย ช้อน ส้อม ที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้อีกด้วย โดยผลิตจากรำข้าวสาลีผสมกับไบโอพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ 100% นอกจากใส่อาหารแล้วก็สามารถกินได้ด้วยนะ หลายคนอาจจะคิดว่าจานชามที่บ้านก็ไม่ได้สร้างขยะนี่นาจำเป็นตรงไหน เอาเป็นว่าภาชนะธรรมชาติแบบนี้เหมาะสำหรับงานเลี้ยง ปิคนิค และงานแฟร์ ต่าง ๆ อย่างมาก รับรองว่าลดขยะพลาสติกได้อย่างแน่นอน โดยกระบวนการผลิตนั้นใช้รำข้าวสาลีบริสุทธิ์ 1 ตัน สามารถผลิตจานได้ถึง 10,000 ใบ

กล่องไข่ให้ชีวิต

บางครั้งการใช้วัสดุรีไซเคิลนั้นอาจใช้งบประมาณและพลังงานที่สูงเกินจำเป็น ทั้งการคัดแยกและขนส่ง จึงมีดีไซเนอร์นามว่า George Bosnas แก้ไขปัญหาด้วยการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ ถาดไข่ Biopack ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพียงแต่หลังจากทิ้งไปแล้วตัวถาดสามารถให้กำเนิดต้นไม้ตระกูลถั่วได้อีกด้วย โดยถาด Biopack นี้ผลิตจากส่วนประกอบของเยื่อกระดาษ แป้ง และเมล็ดพืชตระกูลถั่ว เพราะพืชประเภทนี้สามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินได้ เพียงแค่ทิ้งลงดินและรดน้ำอย่างพอเหมาะ ในเวลาไม่เกิน 30 วันต้นพืชก็จะงอกออกมาดูโลก

ภาชนะจากเปลือกกุ้ง

เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นโดยบริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศอังกฤษ ที่นำเปลือกของสัตว์น้ำเปลือกแข็งมาผลิตเป็น ไบโอพลาสติก ยกตัวอย่าง เช่น กุ้งล็อบสเตอร์เพราะในเปลือกของมันมีไบโอพอลิเมอร์ที่เรียกว่า ไคติน โดยการนำเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์ไปปั่นเป็นผงและสกัดเอาไคติน ผสมกับน้ำส้มสายชูให้เกิดสารละลายพลาสติกชีวภาพและนำไปทำผลิตภัณฑ์ภาชนะต่อไป ที่สำคัญพลาสติกชีวภาพจากเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์ มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถต้านทานเชื้อราและแบคทีเรียได้ จึงเหมาะกับการทำภาชนะบรรจุอาหารได้

แว่นกันแดดจากเศษขยะ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจเมื่อการลดขยะมาเกี่ยวพันกับวงการแฟชั่น โดย Corona ร่วมมือกับ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล กำหนดแคมเปญ Clean Wave เพิ่มคุณค่าให้กับขยะพลาสติกที่เก็บจากท้องทะเล โดยมีเป้าหมายเป็นการปกป้อง 100 เกาะจากขยะทางทะเลให้หมดภายในปี 2020 โดยเริ่มจากการนำเศษขยะมาผลิตเป็นแว่นกันแดดเป็นชิ้นแรก สำหรับแว่นกันแดดแต่ละอันจะระบุพิกัดของเกาะที่ได้รับผลกระทบจากขยะ อีกทั้งรายได้จากการจำหน่ายจะนำไปฟื้นฟูดูแลเกาะเหล่านั้นอีกด้วย ถือเป็นนวัตกรรมลดขยะที่สร้างคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ดียิ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook