ค่าใช้จ่ายที่ต้องรู้ในการซื้อคอนโดฯ โครงการใหม่

ค่าใช้จ่ายที่ต้องรู้ในการซื้อคอนโดฯ โครงการใหม่

ค่าใช้จ่ายที่ต้องรู้ในการซื้อคอนโดฯ โครงการใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า "คอนโดมิเนียม" เป็นอสังหาริมทรัพย์ยอดนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย ซึ่งคอนโดฯ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า ส่วนในต่างจังหวัดจะเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญๆ ของไทย อาทิเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี พิษณุโลก พัทยา ชลบุรี ระยอง หัวหิน หาดใหญ่-สงขลา เป็นต้น

ซึ่งทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย ทั้งซื้อไว้เพื่ออยู่ เพื่อลงทุนปล่อยเช่า หรือขายต่อ ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังวางแผนจะซื้อคอนโดฯ สักห้อง ควรเตรียมตัวเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มาดูกัน

1.เงินจอง: (จ่ายครั้งเดียว) จำนวนเงินจองเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับราคาคอนโดฯ และเงื่อนไขที่โครงการกำหนด โดยส่วนใหญ่เงินจองจะประมาณหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น

2.เงินทำสัญญา: (จ่ายครั้งเดียว) หลังจากได้ทำการจองไปแล้ว ภายใน 7-14 วันทางเจ้าของโครงการจะกำหนดวันทำ "สัญญาจะซื้อจะขาย" ซึ่งเงินทำสัญญาปกติจะก้อนใหญ่กว่าเงินจอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาคอนโดฯ เช่นกัน มีทั้งหลักหมื่นและหลักแสน

3.เงินดาวน์ : (แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ) เนื่องจากแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดฯ ได้ในสัดส่วน LTV ( Loan to Value Ratio) ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งก็คือตัวคอนโด ดังนั้นผู้ซื้อจะต้องดาวน์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 10% ของราคาซื้อขาย (รวมเงินจองและเงินทำสัญญา)

4.ค่าประเมินราคาห้องชุด: (จ่ายครั้งเดียว) โดยจ่ายในวันที่ไปทำเรื่องยื่นกู้ให้กับธนาคารที่เรายื่นกู้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ต่อการประเมินหนึ่งครั้ง ยิ่งยื่นกู้หลายธนาคารก็ต้องจ่ายมาก ค่าประเมินที่ได้จ่ายไปแล้ว ถ้ากรณีที่กู้ไม่ผ่านหรือไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ก็ไม่มีการคืนเงิน

5.ค่าจดทะเบียนจำนอง: (จ่ายงวดเดียว) จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ อัตราปกติคิด 1% ของมูลค่าที่จดจำนอง โดยต้องชำระให้สำนักงานที่ดิน เหตุผลที่ต้องเสียค่าจดทะเบียนจำนองเพื่อเอาคอนโดฯ เป็นประกันหนี้ให้กับธนาคาร

6.ค่าธรรมเนียมการโอน : (จ่ายครั้งเดียว) จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์เช่นกัน อัตราปกติคิด 2% ของราคาประเมินกรมที่ดิน ซึ่งทางกฏหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานที่ดิน มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ โดยส่วนใหญ่ผู้ซื้อและผู้ขายจะออกกันคนละ 50% หรือแล้วแต่ตกลง

7.เงินกองทุนสำรองส่วนกลาง : (จ่ายครั้งเดียว) เป็นเงินกองกลางที่นิติบุคคลอาคารชุดจะเรียกเก็บไว้เป็น "กองทุนสำรอง" เพื่อใช้ในการบริหารจัดการโครงการในระยะยาว โดยคิดตามขนาดพื้นที่ห้องชุดตามระดับราคาห้องชุด เช่น ห้องชุดมีพื้นที่ส่วนกลาง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกมาก อัตราเงินกองทุน จึงย่อมสูงตามลำดับ

8.ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย: (จ่ายเป็นปี หรือแล้วแต่กำหนด) ถ้ากู้เงินมาจากธนาคาร โดยปกติธนาคารจะกำหนดให้ต้องทำประกันอัคคีภัยห้องชุดด้วย โดยผู้ซื้อต้องรับภาระในการชำระเบี้ยประกัน และธนาคารจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ หากเกิดอัคคีภัยบริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินไปที่ธนาคารในฐานะผู้รับผลประโยชน์ เพื่อเอาเงินนี้ไปตัดหนี้กับเงินกู้ ซึ่งปกติมักจ่ายพร้อมกับเงินผ่อนชำระงวดแรก และส่วนใหญ่จะเรียกเก็บ 3 ปีครั้ง อัตราเบี้ยมาตรฐานกรมการประกันภัยกำหนดไว้

9.ค่าประกันมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า : (จ่ายครั้งเดียว) ปกติโครงการมักออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้งมิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้าให้ก่อน แล้วเรียกเก็บทีหลังตามอัตราที่การประปา-การไฟฟ้ากำหนด โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 2,000-4,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า และเงื่อนไขของโครงการ

10.ค่าประกันภัยอาคาร: (จ่ายตามโครงการกำหนด) หากนิติบุคคลอาคารชุดของคอนโดฯ มีการทำประกันอัคคีภัยหรือประกันความเสียหายของทรัพย์สิน เจ้าของห้องชุดก็ต้องร่วมจ่ายค่าประกันภัยนี้ด้วย โดยปกติคิดตามสัดส่วนพื้นที่ห้องชุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook