อยากลองอยู่ “บ้านอัจฉริยะ” ต้องมีเทคโนโลยีอะไรบ้าง

อยากลองอยู่ “บ้านอัจฉริยะ” ต้องมีเทคโนโลยีอะไรบ้าง

อยากลองอยู่ “บ้านอัจฉริยะ” ต้องมีเทคโนโลยีอะไรบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้เวลาที่ไถเฟซบุ๊กหรือติ๊กต็อกเล่นเพลิน ๆ หลาย ๆ คนน่าจะเคยเห็นพวกคลิปที่ทำตอนเทนต์เกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่มันดูเจ๋ง ๆ คูล ๆ ผ่านตากันมาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นคลิปบ้านคนจีน เราจะเห็นพวกของใช้ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ หรือพวกเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ มันมีฟังก์ชันล้ำ ๆ มากมาย ดีไซน์ก็สวยน่ารัก เหนือสิ่งอื่นใดคือการใช้ประโยชน์แบบที่ดูไม่เหมือนกับของที่อยู่ในบ้านเราเลยสักนิด มันมีลูกเล่นมากกว่า และทำให้เราว้าวได้ แม้ว่าฟังก์ชันการใช้งานจะธรรมดาก็ตาม สิ่งที่เหนือกว่าคือประสบการณ์การใช้งาน

ของส่วนใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในคลิปเป็นของใช้ทั่ว ๆ ไป มีทั้งแบบใช้ไฟฟ้า อัตโนมัติ หรือใช้แรงคนทำงานนี่แหละ แต่มันก็ยังเป็นของใช้ที่ดูเจ๋งอยู่ดี หลาย ๆ ชิ้นอาจทำให้เรารู้สึกยกย่องคนที่คิดมันออกมาใช้งาน เพราะเป็นการสร้างเครื่องทุ่นแรงมาแก้ปัญหาของมนุษย์ ของส่วนใหญ่หาซื้อได้ไม่ยาก แม้ว่าจะไม่ได้มีวางขายอยู่ทั่วไปตามห้างหรือตามตลาด แต่ตามแอปฯ ช้อปปิ้งที่เป็นร้านจากจีนมีให้เลือกอยู่มากมาย คนไทยที่มาเปิดพรีออเดอร์ตามคอมเมนต์ในคลิป และหลาย ๆ ชิ้นก็มีขายที่ร้านขายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อจากจีนยี่ห้อหนึ่ง ที่ชอบมีเครื่องใช้ครอบจักรวาลให้เลือกซื้อ

ดูคลิปจบแล้ว หลาย ๆ คนเริ่มลิสต์ของที่ตัวเองเห็นแล้วถูกใจฟังก์ชันการใช้งานเพื่อไปหาซื้อมาใช้บ้าง สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้ว พวกข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านทุกวันนี้ยังมีที่ล้ำโลกกว่าในคลิปพวกนั้นอีกเยอะแยะ แบบที่ว่าทำงานโดยอัตโนมัติ เราแค่เปิดเครื่องแล้วตั้งค่า มันก็สามารถคิดแทนเราได้หมด ทำงานโดยการสั่งการจากระยะไกล ตัวไม่อยู่บ้านก็ควบคุมการทำงานของมันได้ สั่งงานด้วยเสียง แจ้งเตือนการทำงานที่ผิดปกติหรืออันตราย เป็นต้น

ความสามารถของของใช้ต่าง ๆ แบบที่กล่าวในย่อหน้าก่อนหน้า ทำให้บ้านของเรากลายเป็น “บ้านอัจฉริยะ” ลองนึกถึงสถานการณ์ที่เราปิด-เปิดไฟในบ้านได้แม้ตัวเราไม่ได้อยู่ในบ้าน เปิดเครื่องปรับอากาศ ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ก่อนเวลาที่เราจะเดินทางถึงบ้านเล็กน้อย กลับมาถึงก็เย็นชื่นใจทันใช้งาน แจ้งเตือนเมื่อเซ็นเซอร์พบเห็นว่ามีคนมาหาหน้าบ้าน แจ้งเตือนระบบน้ำประปา-ไฟฟ้า-แก๊ส ว่าลืมปิดก่อนออกจากบ้านหรือเปล่า ถ้าลืมปิดก็สั่งปิดผ่านสมาร์ทโฟนได้ หรือตู้เย็นที่มีจอแสดงด้านหน้าว่ามีอะไรที่ใกล้หมดอายุ หรือมื้อนี้จะทำอะไรกินดีจากของที่มีเหลือ ๆ อยู่ในตู้เย็น

อยากลองอยู่ “บ้านอัจฉริยะ”

บ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสุดทันสมัยมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์และส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หากมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ใช้งาน การใช้งานอุปกรณ์ภายในบ้านก็จะสามารถใช้งานได้ เพราะอุปกรณ์เหล่านั้นมักจะอาศัยการเชื่อมอินเทอร์เน็ตแบบ WIFI เป็นหลัก

ดังนั้น แค่สิ่งของเหล่านั้นเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ เราก็สามารถสั่งการ ควบคุม หรือเห็นความเป็นไปแบบเรียลไทม์ เพราะหลักง่าย ๆ ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านอัจฉริยะ คือการที่เราสามารถควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านผ่านแอปฯ หรือระบบปฏิบัติการอื่น ๆ บนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งเชื่อมต่อเข้าไว้ด้วยกันด้วยอินเทอร์เน็ต เมื่อเราสามารถใช้งานได้ มันก็ช่วยให้ประหยัดเวลา ชีวิตสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ทว่าข้อจำกัดก็มีเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เชื่อมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็คืออินเทอร์เน็ต หากอินเทอร์เน็ตมีปัญหา อุปกรณ์ก็จะใช้งานไม่ได้

เทคโนโลยีหลัก ๆ ในบ้านอัจฉริยะก็คือ Internet of Things (loT) ซึ่งก็คือการที่สิ่งของต่าง ๆ ในบ้านถูกเชื่อมเข้าด้วยกันด้วยอินเทอร์เน็ต เราสามารถสั่งการ ควบคุมการใช้งาน และเห็นการทำงานของสิ่งของเหล่านั้นผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต พูดให้ง่ายก็คือ loT คือการที่สิ่งของทุกสิ่งสามารถเชื่อมอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านของเราทำงานได้เอง เพียงแค่เราสัมผัสเพียงปลายนิ้วบนหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต หรือใช้คำสั่งเสียงแทนก็ได้

นอกจากประโยชน์เรื่องความสะดวกสบายที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน การที่บ้านของเราเป็นบ้านอัจฉริยะยังช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานโดยภาพรวม เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ จะสามารถจัดการพลังงานโดยรวมดีขึ้น ตั้งเวลาการใช้งาน ตรวจจับผู้คนภายในบ้านว่าถ้าไม่มีคนอยู่ก็ปิดการใช้งานซะ ค่อยเปิดกลับมาเมื่อมีคน หรือถ้าลืมปิดจริง ๆ ก็สั่งปิดด้วยสมาร์ทโฟน และยังมีประโยชน์ด้านความปลอดภัย เช่น ประตู หน้าต่างแบบอัตโนมัติ ระบบแก๊ส ระบบไฟฟ้า เช็กได้ผ่านโทรศัพท์มือถือว่าล็อกบ้านหรือปิดแก๊สหรือยัง ถ้ายังก็ล็อกหรือปิดมันด้วยตนเองผ่านมือถือนั่นเอง

การทำงานของ IoT

การทำงานของ IoT นั้นจะเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ซึ่งถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็จะเกิดความบกพร่องในการใช้งาน องค์ประกอบทั้งหมดจึงต้องทำงานประสานกัน เพื่อให้ระบบทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ ผู้ใช้งานเพียงติดตั้ง ซ่อมแซม รับข้อมูล ควบคุม สั่งการ และอัปเดตการทำงานของ Smart Device ผ่าน Dashboard เท่านั้น องค์ประกอบของ IoT ปัจจุบัน จะประกอบด้วย

  • Smart Device หรือก็คืออุปกรณ์ที่มีหน้าที่เฉพาะ ภายในมีส่วนประกอบอย่าง Microprocessor และ Communication Device เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ Smart Device ส่งไปยังระบบนั้น ไม่ได้แสดงเพียงแต่ข้อมูลตามหน้าที่เท่านั้น แต่ยังแสดงสภาพอุปกรณ์ด้วย ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ด้วยตัวเอง
  • Cloud Computing หรือ Wireless Network เป็นสื่อกลางที่รับส่งข้อมูลจาก Smart Device ไปยังผู้ใช้ ซึ่งมีทั้งการส่งข้อมูลผ่านระบบ Wireless และการส่งผ่าน Cloud Computer ซึ่งการส่งข้อมูลไปยัง Cloud มีข้อดีที่สามารถรองรับการใช้งาน Smart Device ได้จำนวนมากกว่า ส่งได้ระยะทางไกลกว่า และอาจมีการติดตั้งระบบแปลงการแสดงผลข้อมูลให้เหมาะกับผู้ใช้งานได้
  • Dashboard คือ ส่วนแสดงผลและควบคุมการทำงานในมือของผู้ใช้งาน จะอยู่ในรูปของอุปกรณ์ (Device) หรือแอปพลิเคชันในคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ผู้ใช้งานจะสามารถดูข้อมูลที่ Smart Device ส่งมา หรือตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์และระบบ รวมถึงถ่ายทอดคำสั่งใหม่ไปยัง Smart Device ได้จากส่วนนี้

ลักษณะของอุปกรณ์ในบ้านอัจฉริยะ

เทคโนโลยีหลัก ๆ ที่ใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ในบ้านอัจฉริยะก็คือ IoT แต่ลักษณะการทำงานของอุปกรณ์เหล่านั้นอาจแบ่งเป็น

Control & Connectivity (อุปกรณ์สำหรับควบคุม) คืออุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ ที่ทำงานภายใต้การควบคุมอีกที เป็นส่วนที่ทำให้อุปกรณ์สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติ รวมถึงสั่งการอุปกรณ์อื่น ๆ

Smart Appliances (ตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ) ซึ่งก็คือตัวอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแทบจะทุกชนิดในบ้าน เช่น ทีวี ตู้เย็น พัดลม เครื่องปรับอากาศ เตาอบ เครื่องล้างจาน และอุปกรณ์อัจฉริยะอื่น ๆ ที่สามารถควบคุมการทำงานและสั่งการได้ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต

Security Devices (อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย) อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยภายในบ้าน เช่น กล้องวงจรปิด ประตู หน้าต่างอัตโนมัติ

Home Control​ (ระบบควบคุมอัจฉริยะ) เช่น ระบบไฟฟ้าภายในบ้านที่สามารถใช้งานได้แบบอัตโนมัติ ตรวจจับว่าไม่มีคนอยู่ก็ปิดการใช้งาน สามารถตั้งเวลาให้เปิด-ปิดการใช้งาน หรือจะควบคุมเองผ่านสมาร์ทโฟนก็ได้ และยังรวมถึงการควบคุมอุปกรณ์อื่น ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน

Home Monitoring (ระบบควบคุมสัญญาณระยะไกล) ระบบที่ควบคุมและตรวจสอบได้แม้จะอยู่ในระยะไกล เช่น กล้องวงจรปิด ที่เห็นความเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง

Landscape Control (ระบบควบคุมภูมิทัศน์) คนที่ไม่ค่อยอยู่บ้านหรือไม่มีเวลาดูแลสนามหญ้าหน้าบ้าน ก็สามารถสั่งงานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้รดน้ำต้นไม้ให้

Smart Speaker (ระบบการสั่งการด้วยเสียง) อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี AI เชื่อมกับ IoT สามารถทำงานได้ด้วยระบบสั่งการด้วยเสียง เราสามารถสั่งให้อุปกรณ์ทำงานลักษณะเดียวกับบอกให้ผู้ช่วยที่เป็นมนุษย์ทำ

Smart Mirror (กระจกอัจฉริยะ) กระจกที่เป็นมากกว่ากระจกที่สะท้อนเงาให้เห็น แต่มีฟังก์ชันการใช้งานเสมือนแท็บเล็ตขนาดใหญ่ เช่น แสดงเวลา แสดงอุณหภูมิ สภาพอากาศ บิลค่าใช้จ่าย เปิดเพลง เชื่อมบลูทูธคุยโทรศัพท์ เป็นต้น

Smart Sensor (เครื่องตรวจจับอัจฉริยะ) อุปกรณ์ที่ทำงานแบบอัตโนมัติโดยอาศัยเครื่องตรวจจับหรือเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เมื่ออุปกรณ์ตรวจพบว่ามีมนุษย์อยู่ในรัศมีถึงจะเปิดใช้งาน

Smart Door Lock (ระบบล็อกประตูอัจฉริยะ) ระบบที่เกี่ยวกับการล็อกประตู หน้าต่าง โดยไม่ต้องใช้กุญแจที่สามารถปลอมแปลงหรืองัดเข้าไปได้ง่าย ๆ อาจจะเป็นการกดรหัส ใช้คีย์การ์ด ใช้แอปฯ ที่เชื่อมต่อกันบนสมาร์ทโฟน หรือสแกนลายนิ้วมือ สแกนใบหน้า ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจะไม่สามารถเข้าไปได้ และจะแจ้งเตือนให้ทราบเมื่อมีความพยายามทำลายอุปกรณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook