ทัวร์ห้องหนังสือ – ห้องทำงานสุดชิลล์ สไตล์ “อาจารย์ฮูก”

ทัวร์ห้องหนังสือ – ห้องทำงานสุดชิลล์ สไตล์ “อาจารย์ฮูก”

ทัวร์ห้องหนังสือ – ห้องทำงานสุดชิลล์ สไตล์ “อาจารย์ฮูก”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล เป็นนักวิชาการด้านการศึกษาที่มีภารกิจรัดตัว ทั้งงานสอนและการเดินทางไปทำงานนอกสถานที่ เพราะฉะนั้น บ้านจึงเป็นสถานที่สำคัญในการพักกายและพักใจที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน
  • ห้องสมุดส่วนตัวของ ผศ.อรรถพล เกิดจากนิสัยรักการอ่าน ซึ่งออกแบบให้เชื่อมต่อกับห้องทำงาน เพื่อใช้เป็นพื้นที่พักผ่อน
  • การออกแบบห้องสมุดและห้องทำงานในบ้านช่วยให้ ผศ.อรรถพลสามารถผ่านพ้นการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิด-19 ได้

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล (อาจารย์ฮูก)ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล (อาจารย์ฮูก)ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล (อาจารย์ฮูก)

ทุกครั้งที่มีข่าวคราวความเป็นไปในวงการการศึกษา เรามักจะเห็น “อาจารย์ฮูก” หรือ “ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล” มาให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางการศึกษาอยู่บ่อยครั้ง ด้วยบทบาทอาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทย ทำให้ ผศ.อรรถพลมีภารกิจมากมายจนแทบไม่มีวันหยุด ดังนั้น สำหรับคนที่ต้องทำงานและเดินทางตลอดเวลาอย่างนักวิชาการผู้นี้ บ้านจึงเป็นพื้นที่สำคัญ ที่นอกจากจะเป็นที่พักกายแล้ว ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพักใจในวันที่เหนื่อยล้าด้วย

หลังจากปฏิบัติหน้าที่ครูอย่างเต็มที่ในปีการศึกษาที่ผ่านมาและเข้าสู่ช่วงปิดเทอม ผศ.อรรถพลจึงมีเวลาเปิดบ้านต้อนรับทีมงาน Sanook พร้อมพาทัวร์ห้องหนังสือและห้องทำงานส่วนตัว ที่ไม่เพียงแต่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีเท่านั้น แต่ยังชิลล์สุดๆ อีกด้วย

ห้องสมุดส่วนตัวของอาจารย์ฮูก

ผศ.อรรถพลเริ่มเล่าถึงชีวิตวัยเด็กที่มีความผูกพันกับหนังสือว่า เขาเติบโตในครอบครัวคนจีน ที่มีพี่น้องหลายคน แต่ละคนจะมีมุมส่วนตัวในห้องนอนที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งมุมของ ผศ.อรรถพลในขณะนั้นจะเก็บหนังสือที่สะสมไว้ กลายเป็นห้องสมุดขนาดจิ๋ว ที่ใครๆ ก็สามารถมาหยิบยืมหนังสือไปอ่านได้

“ตอนผมเด็กๆ สัก ม.ต้น ผมเริ่มทำห้องสมุดส่วนตัว น้องจะมายืมหนังสือ หรือคนงานที่บ้านจะมาขอหนังสือไปอ่าน ผมต้องให้ลงทะเบียนว่าหยิบเล่มไหนไป จะคืนเมื่อไร เป็นเหมือนการเล่นตอนเด็กๆ พอโตมาแล้วเราเริ่มมีห้องส่วนตัว เราก็จะเริ่มมีมุมหนังสือ พออยู่คอนโดก็เริ่มหนังสือเยอะ เป็นอาจารย์นี่ไม่ต้องพูดถึง ก็ยิ่งหนังสือเยอะ”

ด้วยนิสัยรักการอ่าน ทำให้ ผศ.อรรถพลมักจะซื้อหนังสือมาเก็บไว้เรื่อยๆ เมื่อต้องสร้างบ้านของตัวเอง ก็ตั้งใจว่าจะต้องมีมุมหนังสือ เพื่อเก็บรักษาเพื่อนเหล่านี้ไว้ให้อยู่ไปนานๆ บวกกับการทำงานอยู่ตลอดเวลา เขาจึงคิดว่าต้องมีห้องทำงานที่เชื่อมต่อกับมุมหนังสือนี้ด้วย นี่จึงเป็นที่มาของห้องสมุดสุดชิลล์ในบ้านหลังนี้

นอกจากหนังสือหลากหลายประเภทที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ชั้นหนังสือที่ทำจากเหล็กก็เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของห้องสมุดส่วนตัวแห่งนี้ ผศ.อรรถพลเล่าแนวคิดตั้งต้นในการเลือกชั้นหนังสือเหล็กว่า เงื่อนไขของเขาคือ ชั้นหนังสือต้องรับน้ำหนักได้เยอะ เพราะหนังสือมีจำนวนมาก หลายเล่มก็หนาและมีน้ำหนักไม่น้อย นอกจากนี้ ด้วยสไตล์การออกแบบบ้านที่เน้นความโปร่งสบาย รูปแบบของชั้นหนังสือจึงเปิดโล่ง ทำให้ ผศ.อรรถพลต้องหาสารพัดวิธีป้องกันฝุ่น นั่นคือการวางหนังสือทั้งหมดในแนวนอน

“พอเป็นเหล็ก จะมาติดกระจกมันก็ไม่เข้ากัน ก็ต้องทำใจ แล้วก็ทำให้โล่งไปเลย แล้วก็ทำให้ห้องนี้มีฝุ่นน้อยที่สุด ติดม่านไว้ อาจจะต้องออกแรงปัดฝุ่นหน่อย 2 – 3 สัปดาห์ ก็ต้องปัดฝุ่นใหญ่ทีหนึ่ง ก็เลยเลือกวางแนวนอน เพราะจะได้ปัดแค่หน้าปก แล้วพอตั้งใจเป็นชั้นเหล็ก ถ้าวางเป็นแนวตั้งมันซ้อนไม่ได้ มันก็จะกลายเป็นชั้นที่ถี่ แล้วก็ดูแน่น ห้องมันก็จะอึดอัด ก็ทำเป็นแนวนอนไป”

ถัดจากห้องหนังสือ ก็มีชั้นไม้ขนาดใหญ่สำหรับวางหนังสือการ์ตูน รวมทั้งดีวีดีภาพยนตร์ ซีดีเพลง และเทปคาสเซ็ต คั่นระหว่างห้องหนังสือกับห้องทำงาน พร้อมเบาะรองนั่งนุ่มสบาย ซึ่งทำให้บรรยากาศผ่อนคลายไม่น้อย

“เราโตมากับการดูหนัง ฟังเพลง เดิมมันก็เป็นผนังครับ สถาปนิกเขาออกแบบให้มันเป็น 2 ห้อง มีประตูเปิดถึงกัน แต่พอเรามาอยู่แล้ว เดินๆ ดูแล้วเราไม่อยากให้เป็นผนัง เราอยากให้เป็นชั้นวางของไปเลย แล้วเรามีเทปคาสเซ็ตที่เราเก็บตั้งแต่เป็นเด็กมัธยม ก็เลยทำชั้นเก็บการ์ตูน ดีวีดีหนัง แล้วก็ซีดีกับคาสเซ็ต ให้มันกลายเป็นผนังกั้นห้องไป แล้วก็เอาม่านพอ ไม่เอาประตู ให้อากาศถ่ายเทหากันได้” ผศ.อรรถพลอธิบาย

3 มุมทำงาน สไตล์ “อาจารย์ฮูก”

นอกจากห้องสมุดที่สะท้อนตัวตนความเป็นนักอ่านแล้ว มุมทำงานของ ผศ.อรรถพลก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเขาจัดมุมทำงานเป็น 3 จุด ซึ่งแต่ละมุมก็ทำหน้าที่ต่างกันไป โดยเริ่มจากโต๊ะทำงานที่อัดแน่นไปด้วยตำรา เครื่องเขียน คอมพิวเตอร์ และโคมไฟ ซึ่งใช้สำหรับทำงานเอกสารและสอนออนไลน์ในช่วงโควิด-19

ถัดมาในห้องหนังสือ จะมีโต๊ะว่าง 1 ชุด ที่มีเพียงโคมไฟขนาดเล็ก ซึ่ง ผศ.อรรถพลใช้สำหรับอ่านงานวิจัย และเขียนงานฉบับร่าง เพราะไม่มีสิ่งรบกวนจากอุปกรณ์ไอทีและโทรศัพท์

โต๊ะอีกจุดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นมุมสำหรับเขียน Free writing ที่ ผศ.อรรถพลพยายามทำให้เป็นพิธีกรรมหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ต้องทำเป็นประจำ

“พอเราเริ่มรู้จักเรื่อง Free writing มันช่วยให้เราจูนกับชีวิตทั้งตอนเช้าหรือก่อนนอนได้ ตื่นเช้ามา บางทีสมองไม่ค่อยแล่น ก็เขียนอะไรก่อน ปลุกให้สมองตื่นก่อน บางวันเขียนก่อนนอนก็เป็นบันทึก วันนี้มีอะไรเกิดขึ้น คือจัดโซนตัวเองไปเลยให้มันขาดว่าจะอยู่ตรงไหน แล้วตรงนี้ก็ใช้มันแค่ตรงนั้นแหละ”

เซฟโซนในช่วงโควิด

ในสถานการณ์ปกติ ผศ.อรรถพลจะเดินทางอยู่ตลอดเวลา ทั้งการทำงานในมหาวิทยาลัยและการเดินทางไปทำงานยังต่างจังหวัดและต่างประเทศ ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ประเทศไทยและทั่วโลกต้องล็อกดาวน์ ผศ.อรรถพลเองก็งดเดินทางไปโดยปริยาย หลังจากที่ย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ห้องหนังสือและห้องทำงานที่ออกแบบไว้อย่างดี ก็ช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาล็อกดาวน์นี้ไปได้

“พอย้ายเข้าได้แค่ 5 เดือน ก็เจอโควิดแล้ว กลายเป็นว่าเราคิดถูกที่ออกแบบให้มันเป็นแบบนี้ไว้ เพราะทำให้เราอยู่กับมันได้ ไม่ต้องออกไปไหน ยิ่งตอนสอนออนไลน์หนักๆ มันจะหลอน เหนื่อย ไม่อยากอยู่ตรงนั้นแล้ว เพราะว่านั่งทั้งวันอยู่หน้าจอ ก็เดินมาตรงนี้ นั่งอยู่แถวนี้” ผศ.อรรถพลเล่าถึงประโยชน์ของห้องหนังสือ

นอกจากนี้ ผศ.อรรถพลยังเล่าถึงการใช้ชีวิตในบ้านและหน้าจอคอมพิวเตอร์ในช่วงล็อกดาวน์ว่า เขาจะตั้งนาฬิกาให้เตือนว่าต้องลุกไปเดินทุก 30 – 45 นาที ไม่ว่าจะเดินไปเข้าห้องน้ำ ต้มน้ำชงกาแฟ หรือเดินไปดูบ่อปลาหน้าบ้าน รวมทั้งปลูกต้นไม้ในบ้านเป็นจำนวนมาก

“เมื่อมันต้องอยู่ 2 ปี เอาต้นไม้เข้า แล้วก็บังคับตัวเองทุกเช้าต้องรดน้ำต้นไม้ บ้านผม 3 ชั้น ตื่นเช้ามาก็รดน้ำต้นไม้ บังคับตัวเองเดินไม่ต่ำกว่า 20 นาทีแล้ว เพราะว่าแต่ก่อนไปทำงาน ออกไปขึ้นรถไฟฟ้า ก็เดินทั้งวันอยู่ แต่อยู่บ้านมันก็จุมปุ๊กอยู่กับที่ เราก็ไม่อยากอยู่กับพลังงานแบบนั้น”

การล็อกดาวน์ในสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ ผศ.อรรถพลค้นพบตัวเองว่ารู้สึกมีความสุขเมื่อได้อยู่กับตัวเองอย่างสงบ อย่างที่หลายคนเรียกว่าเป็น “อินโทรเวิร์ต”

“โควิดทำให้เราเพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ต ทำให้เรารู้ว่าไม่ค่อยอยากยุ่งกับใครเท่าไร คือปะทะสังสรรค์กับคนได้ คุยได้ แต่ถ้าเลือกได้ อยู่เงียบๆ ดีกว่า โควิดทำให้เราตระหนักรู้แล้วว่าตัวเราแบบนี้แหละ เราอาจจะต้องมีพื้นที่ตรงนี้ชาร์จพลังตัวเองอยู่” ผศ.อรรถพลกล่าวถึงห้องทำงานและห้องหนังสือแสนสบายของเขา ที่ให้พื้นที่ปลอดภัย แม้ในสถานการณ์โรคระบาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ทัวร์ห้องหนังสือ – ห้องทำงานสุดชิลล์ สไตล์ “อาจารย์ฮูก”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook