ห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน

ห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน

ห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จั่วหัวเรื่องมาแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่า “บูรณะสถาน” เป็นออฟฟิศของคนทำงานแบบทีเล่นทีจริง แต่เปล่าเลย เพราะเรากำลังจะเล่าถึงออฟฟิศของคนเอาการเอางาน ที่คิดจะเอาดีเรื่องการออกแบบและตกแต่งภายใน รวมไปถึงถนัดงานด้านการรีโนเวท ปรับปรุงอาคารเก่าที่เน้นรักษาเรื่องราวของสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นไว้

สภาพอาคารพาณิชย์ภายนอกก่อนรีโนเวท


สภาพอาคารภายใน แสดงให้เห็นถึงลักษณะพื้นที่ดั้งเดิม

เช่นเดียวกับตัวสำนักงานของบูรณะสถานเอง ก็เป็นผลงานการรีโนเวทต่อเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงการวันอุดมสุข คอมมิวนิตี้มอลล์ที่มดงานในออฟฟิศบูรณะสถานร่วมแรง ร่วมใจแชร์ไอเดียเปลี่ยนอาคารพาณิชย์เก่าอายุราว 35 ปีมาเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ที่ทำให้คนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

 

ชั้นดาดฟ้าก่อนรีโนเวท

บรรยากาศระหว่างการรีโนเวท

หลังโครงการใหญ่เสร็จสิ้น ชาวบูรณะสถานปลงใจเลือกพื้นที่บริเวณชั้น 4 ของคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานของตนเองเนื่องจากองค์ประกอบสำคัญต่างๆ ครบครัน ทั้งทำเลดี ทางเข้า-ออกสะดวก และมีดาดฟ้าให้ใช้ประโยชน์
บูรณะสถานใช้พื้นที่ 120 ตารางเมตรซึ่งเป็นห้องเก่าจำนวน 1 ห้องรวมกับดาดฟ้า เพื่อจัดสรรพื้นที่ทำงานที่ไม่เน้นบรรยากาศการทำงานเหมือนออฟฟิศทั่วไป แต่เน้นสร้างพื้นที่ให้พนักงานทุกคนรู้สึกผ่อนคลาย เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์งาน ดังนั้นบูรณะสถานจึงไม่ใช่สำนักงานที่รวมโต๊ะทำงานแบบเป็นแพทเทิร์นเดียวกันไว้ หรือมีห้องประชุมแบบซีเรียส หากแต่ที่นี่กลับให้บรรยากาศคล้ายบ้านที่ทุกคนสามารถลุกจากโต๊ะส่วนตัวไปนั่งคิดงานตรงโซฟา นั่งผ่อนอารมณ์ ปูเสื่อทานอาหารบนชั้นดาดฟ้า หรือเปิดเพลงฟังในระหว่างที่คิดงานไม่ออก

 

โถงด้านหน้าหลังเปิดประตูเข้ามาในออฟฟิศ

 

ด้านในจัดวางเหมือนห้องรับแขกในบ้าน บางทีก็รู้สึกเหมือนเป็นแกลอรี่

ความพิเศษอีกข้อหนึ่งของการรีโนเวทออฟฟิศนี้คือการใช้วัสดุเก่าที่หลงเหลือจากการรีโนเวทวันอุดมสุข คอมมิวนิตี้มอลล์มาใช้งานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งแผ่นไม้ปูพื้นห้อง แผ่นสังกะสีจากแคมป์คนงานก่อสร้าง ที่เกิดจากการคิดและจับวัสดุแต่ละประเภทแมชเข้าหากันอย่างลงตัว อีกทั้งของตกแต่งทุกชิ้นภายในสำนักงานล้วนมีเรื่องราวที่เจ้าของตัวจริงไม่ใส่ใจ แต่กลับมีคุณค่าสำหรับชาวบูรณะสถาน อย่างตู้กับข้าวใบเก่าที่ถูกวางทิ้งไว้แบบไม่ใส่ใจ แต่กลับถูกนำมาตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญหน้าออฟฟิศ หรือเก้าอี้นั่งของอาม่าคนหนึ่งที่แม้เจ้าของจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่กลับถูกนำมาทำให้มีชีวิตอีกครั้งภายในบูรณะสถาน

 

อัง แพร และเฟรนด์ (เรียงจากซ้ายมือผู้อ่าน) The team บูรณะสถาน

 

โต๊ะนั่งทำงานของพนักงาน หันหน้าออกไปทาง BTS

ดาดฟ้า เห็นแล้วเหมาะสำหรับจัดปาร์ตี้มากกว่า

พนักงานทุกคนที่นี่จึงทำงานอย่างมีความสุข แต่ละคนจะมีมุมโปรดที่ทำให้รู้สึกมีความสุขในการทำงานอย่างน้องแพร ชอบส่วนเปิดโล่งซึ่งเป็นโถงกลางเชื่อมต่อระหว่างชั้นล่างกับดาดฟ้าเพราะแสงธรรมชาติที่สาดเข้ามาระหว่างวันช่วยเปลี่ยนอารมณ์ในการทำงานของเธอ สำหรับเฟรนด์วิศวกรสาวของบูรณะสถานกลับเลือกโถงรับแขกเป็นพื้นที่โปรด เพราะแม้จะถูกใช้ดัดแปลงเป็นห้องประชุมแบบไม่เป็นทางการในบางครั้ง แต่ทุกครั้งที่คิดงานไม่ออกเฟรนด์ก็มักมานั่งเล่น เปิดเพลงคลอเบาๆ กระตุ้นสมอง ส่วนอังเลือกดาดฟ้าเป็นมุมพิเศษเพราะมันทำให้เธอเห็นสีเขียวบ้างในระหว่างการคิดงาน

 

ส่วนนั่งเล่น นั่งชิล สูดอากาศ แตะขอบฟ้า

 

ผสมผสานวัสดุที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว

ส่วนตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ ในออฟฟิศที่ช่วยทำให้อารมณ์ดี

งานรีโนเวทหรือการออกแบบตกแต่งสำหรับชาวบูรณะสถาน จึงมิใช่เพียงการรับเงินค่าจ้างการออกแบบเพื่อเปลี่ยนอาคาร หรือบ้านเก่าให้เป็นบ้านใหม่เท่านั้น แต่ทุกๆ คนจะคำนึงถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้น รวมไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานรีโนเวท





อัลบั้มภาพ 43 ภาพ

อัลบั้มภาพ 43 ภาพ ของ ห้องเก่าร้าง 35 ปี แปลงร่างเป็น “บูรณะสถาน” สำนักงานนั่ง นั่ง นอน นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook