สร้างบ้านต่างจังหวัด เรียบๆ ยกสูง สีขาว สไตล์ทรอปิคอล

สร้างบ้านต่างจังหวัด เรียบๆ ยกสูง สีขาว สไตล์ทรอปิคอล

สร้างบ้านต่างจังหวัด เรียบๆ ยกสูง สีขาว สไตล์ทรอปิคอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกครั้งที่นำเรื่องการสร้าง บ้านใหม่ มาฝากดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจ ครั้งนี้ก็เช่นกันกับกระทู้สร้างบ้านของคุณน้องนู๋ซู่ซ่า    จากเว็บไซต์พันทิป ดอทคอม ที่จะมาเล่าเรื่องการสร้างบ้านของตัวเองแบบละเอียดยิบ หวังว่าคงถูกอกถูกใจผู้ที่กำลังจะสร้างบ้าน สวัสดีพี่ๆน้องๆ ทุกท่านนะครับ เป็นครั้งแรกที่เขียนรีวิว หากผิดพลาดอ่านยากต้องขออภัยด้วยครับ บ้านนี้จะเป็นบ้านที่สร้างบนที่ดินเปล่าไว้เกือบ 20 ปี แต่เดิมเป็นที่ทำนา เลี้ยงวัวมีบ่อน้ำเล็กๆ ที่ต่ำกว่าระดับถนน มีต้นคูณ 1 ต้น ต่อมาซักพักเป็นหนองน้ำขัง มีปลาช่อน ปลาหมอ เต่า นกกวัก วรนุช มากมายแอบเสียดายที่ตอนจะสร้างบ้านต้องถมหมดตามคำสั่ง 555 จริงๆ อยากถมซักครึ่งหนึ่ง แล้วเหลือปล่อยไว้ตามธรรมชาติ หนู งู เต่า ปลา อยู่รอบกาย (แอบสยอง) ซึ่งโจทย์ของบ้านหลังนี้คือ

1. ยกสูงรับลม + เผื่อน้ำท่วม ซึ่งครั้งแรกจะถมเป็นเหมือนสร้างบนเนินดิน
   แต่ไปๆ มาๆ ไม่ถมแล้ว...เปลือง...ได้ที่จอดรดใต้ถุนบ้านเลย รวมถึงถังเก็บน้ำสำรอง

2. อยากได้บ้านที่สะท้อนอารมณ์บ้านไทยภาคกลางอยู่บ้าง ซึ่งบ้านอยู่ภาคกลางตอนบน
   แต่ประยุกต์ให้มีความทันสมัยขึ้นมาตามเวลา ให้รู้ว่าสร้างราวๆ ปีนี้ๆ นะ

3. หลังคาเซรามิคอันนี้คุณแม่อยากได้...ตามใจหน่อยแต่บอกว่าราคาสูงนะ

4. บ้านที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างเมืองไทย ไม่ร้อน กันแดดฝนได้ดี

5. ออกแบบช่วยให้ตกแต่งภายนอกและภายในน้อยๆ ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่บ้านเดิมไว้ก่อน...ประหยัด

6. ใช้การดูแลซ่อมบำรุงต่ำ เลี่ยงใช้ฉนวนบริเวณหลังคา ใช้ไม้เทียมลดใช้ไม้จริง

7. มีแสงสว่างเพียงพอ ดูโปร่ง เบาสบาย ไม่อับชื้น....

8. สวยด้วยเหล็กดัด ซึ่งคงยากอยู่

9. ทดลองงานออกแบบบางอย่าง

สไตล์บ้านจึงน่าจะเป็นประมาณ...เอิ่ม...Tropical Contemporary มีกลิ่น Modern แฝงมาบ้าง
ชายคาบ้านยาวๆ ซัก 1.50 เมตร กันแดดกันฝนได้ดี ผนัง 2 ชั้นในด้านใต้และทิศตะวันตก
ต้องการใช้อิฐมวลเบาเป็น 90-95 % อยากรู้ว่ามีข้อดีข้อเสียขนาดไหน ยึดอะไรได้เยอะไหม ?
ซึ่งไอเดียในหัวก็ประมาณนี้ครับ

ซึ่งส่วนตัวใช้ผังเรือนไทย มาตัด บิด ชำแหละ ลด เพิ่ม หมุน...มั่ว
และด้วยคุณพ่อเป็นทหารอากาศเลยอยากให้มีบางมุมคล้ายเครื่องบิน หรือดูลอยๆ ทะยานๆ
ต่อมาก็เริ่มที่ปรับพื้นที่ครับ

ซึ่งดินที่จะถมครั้งแรกจะใช้ดินดำ แต่ลองแล้วค่อนข้างปลิ้นไปมา สรุปคือ ต้องใช้ลูกรัง ซึ่งเหนื่อยแน่ๆ ตอนลงต้นไม้

ซึ่งก็ปล่อยให้ยุบตัวประมาณปีนึง ระหว่างนั้นลองลงถั่วลิสง กล้วยต่างๆ ซึ่งตายบ้างรอดบ้าง แต่ตายมากกว่ารอด

มีน้ำลงมาท่วมขังบ้าง ลองปล่อยปลานิล 200 ตัว จากกรมประมงน้ำจืด โตไวมากให้กินผักบุ้งที่ขึ้นเองรอบๆ บ่อ
สุดท้ายยอมให้คนงานจับไปกิน บางส่วนลุงข้างบ้านมาหาตอนบ่อแห้งไปปล่อยที่วัดให้

มีฟักขึ้นริมรั้วเองด้วย อร่อยทีเดียว ช่วงนั้นค่อนข้างหนาว จะดกและใหญ่มากๆ
ช่วงหลังเหมือนมีคนรู้หายเกลี้ยงไม่เหลือให้เราซักลูกเลย ใจร้ายจัง

ระหว่างนี้ก็ออกแบบบ้านไปในตัว ไปยืนๆ ดูทำเล มุมมอง แดด ลม ฝน วิวโดยรอบ
ซึ่งพอมียอดเขาให้เห็นใกล้ๆ ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

สำรวจสภาพโดยรอบก่อนขึ้นเสาเอก ต้องค่อยตัดต้นโสนอยู่เรื่อยๆ
ส่วนผู้รับเหมาใช้ที่รู้จักแถวบ้านครับ

 

วันนี้วันดีลงเสาเข็ม ขึ้นเสาเอก ในเดือน 6 แม่บอกมา

ขึ้นเสา เทปูนครับ ช่วงนี้มีลากถังใส่น้ำ บ่มเสาเองบ้าง เผื่อคนงานลืม เสาจะได้แข็งแรงขึ้นอีกนิด

เริ่มเทคานชั้นที่ 1 ครับ

เพิ่มเทพื้นสำเร็จและพื้นหล่อในที่

เข้าแบบเสา คศล. รับคานรัดรอบหลังคา

เริ่มขึ้นคานหลังคาแล้วครับ หวาดเสียวแทนคนงานจริงๆ เจ้าของผู้รับเหมาขึ้นไปสั่งกำกับดูแลด้วย
ทำไปแล้วแก้ไขยากครับ

เริ่มเทปูน คาน คสล. รับหลังคากันต่อครับ มีฝนมาบ้างบางช่วง

ระเบียงด้านหน้าทางเข้าบ้าน

เริ่มก่อผนังอิฐมวลเบาตามขึ้นมาบางส่วน

บันไดหลังบ้าน สูงไปนิดนึง...เดี๋ยวใช้ถมดินเป็นเนินขึ้นไปรับครับ

ตอนกลางคืนช่วงนี้จะเห็นพระจันทร์เต็มดวงขึ้นหน่อยครับ

เริ่มทำคาน คสล. รับหลังคาด้านบนครับ

งานก่อตามมาเรื่อยๆ นะ ยังไม่เนี้ยบเท่าไหร่ รอยปูนบางจุดเยอะอยู่ อิฐด่างๆ ไปนิด

ต่อกันด้วยบันไดหน้าบ้านครับ จะแบบเป็น 2 ช่วง
ลูกขั้นแรก 17 cm. 5 ขั้น + ชานพักเก็บรองเท้า + ลูกขั้นสอง 15 cm. 3 ขั้น
ลดความเมื่อยหน้าขาตอนขึ้นบ้าน จำพวกบ้านใต้ถุนสูง

 

เริ่มงานโครงสร้างหลังคาครับ มีใช้โครงถักบางส่วนด้านซ้ายของบ้าน

แวะดูความเรียบร้อยโครงหลังคา ด้านในตัวบ้านนิดนึงก่อนจะมุงกระเบื้องในวันถัดไป

ระหว่างรอกระเบื้องหลังคา

ด้านหลังบ้าน

งานฉาบผนังรอบบ้าน

ครัวค่ำๆ พื้นที่ซักล้าง เล่นลูกเล่นช่องแสงแนวตั้งหน่อย รับลมเข้ามาบริเวณดังกล่าว
ซึ่งน่าจะช่วยให้ตากผ้าในร่มได้ ซึ่งน่าพอใจในระดับหนึ่ง

ลงต้นไม้รอหลังคา มะพร้าว พะยูง กล้วยพม่าแหกคุก

ในที่สุดก็มาแล้ว ...หลังเซรามิค excella plato white matt....
ให้บ้านออกมาดูโมเดิร์นนิดๆ เรียบๆ เกลี้ยงๆ ทนอากาศเมืองไทย
ที่สำคัญ...เนื้อดินเผา น่าจะกันความร้อนได้ดี แล้วใช้สีขาวซึ่งสะท้อนความร้อนดีกว่าสีอื่น
ถูกโฉลก....
**ข้อเสีย** แพงครอบต่างๆ ยิ่งแพ๊งแพง พยายามลดการใช้ครอบบางส่วน + ความลาดชันสูงหน่อย
สำหรับแผ่นเรียบ ขั้นต่ำคือ 25 องศา ที่บ้านใช้ 25 และ 35 องศา ครับ

อันนี้ครอบสันหลังคาครับ

ลำเลียงกระเบื้องหลังคา ไปตามพื้นที่ต่างๆ

ช่าง+คนงาน ต่างเริ่มลงมือทยอยขึ้นหลังคาเรื่อยๆ แดดมาเต็มวันนี้

ใกล้ความจริง สำหรับหลังคา ช่างบอกใต้หลังคาเย็นดีมาก แต่แผ่นหนักกว่าแบบลอนหน่อย
ลอนหนักราวๆ 3.5 แบบเรียบหนักราวๆ 3.8

ดูความเรียบร้อยและการบิดตัวจากการมุง ซึ่งแผ่นเรียบต้องระวังเป็นพิเศษ ซึ่งจะไปฟ้องช่วงริมๆ หลังคา

เจอฝูงนกปากห่าง + กระยาง ไม่รู้มาจากไหนเพียบเลย ดูท่าคงบินกลับรัง
ขืนขี้ใส่หัวจะเอาหนังกระติ๊กยิงให้ร่วงเชียว

...วันนี้ขอพอแค่นี้ก่อนนะครับ พักสายตาแป๊บ
ทำงานต่อครับ ร้อนก้นแว้วววว
งานไม่เร่ง เราไม่ทำ 555

ต่อนะครับ เค้าล้อเล่น ต้องขออภัยที่ช้าหน่อย

ช่วงนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างหน่อยแล้วครับ  เริ่มใส่ครอบส่วนต่างๆ ระบบครอบแห้ง
รายละเอียดตามมุมต่างๆ ปีกปูนกันฝน  บันไดทางขึ้นทางลง สีรองพื้น

มุมนี้คือด้านทิศตะวันออก จะเป็นส่วนของห้องนอนคุณพ่อคุณแม่
ที่ต้องการให้ห้องรับแดดในช่วงเช้า หรือให้แม่พอชำเลืองเห็นพระอาทิตย์ขึ้น
เพื่อที่จะตื่นมาทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้านตอนฟ้าสางครับ
ด้านขวาจะเป็นตัวบ้านด้านทิศเหนือซึ่งจะเปิดช่องแสงบ้างส่วนเหนือประตูหน้าต่าง

มุมนี้ด้านทิศตะวันตก เฉียงมาทางหน้าบ้านครับ

ค่อนข้างเรียบๆ ทึบ ไม่เปิดช่องแสงด้านทิศนี้ครับ ผนัง 2 ชั้นในบางห้อง
จะเป็นพื้นที่ ห้องเก็บของ ห้องน้ำกลาง ห้องเอนกประสงค์ ห้องครัว ซักล้างครับ

พื้นที่ใต้หลังคาขนาดใหญ่เพื่อหน่วงการแผ่รังสีความร้อนที่ผ่านกระเบื้องหลังคาลงมา
ทั้งนี้ เพื่อลดความร้อนของบ้านในตอนบ่าย รวมถึงชายคายาว 1.5 เมตร มุมเอียง 25 องศา
ซึ่งแสงส่วนใหญ่จะเริ่มส่องประมาณบ่าย 4 โมงกว่า ในช่วงหน้าร้อน

งานฝ้าครับ เริ่มขึ้นโครงตามๆ กันมา
ใช้ยิปซั่มชนิดติดฟอยด์มาจากโรงงาน ไม่มีใช้ฉนวนความร้อนใดๆ (ทดลอง)
มองๆ ไป แอบชอบตัวกระเบื้องหลังคาตัวนี้จัง ไม่ตีฝ้าได้ไหมนี่

ช่วงนี้เริ่มงานกระเบื้องกันต่อครับ ช่วงแรกจะเป็นกระเบื้องห้องน้ำ ผนัง-พื้น ครับ

ระหว่างทำห้องน้ำ ก็เริ่มมาหาอุปกรณ์ช่วยผู้สูงอายุและเด็กน้อยเกาะตอนอาบน้ำครับ (Universal design)
เผื่อบางครั้งตัวเราเองหมดแรงท้องเสีย ก็มีอะไรช่วยดึงเกาะออกมาจากห้องน้ำได้
ซึ่งค่อนข้างเลี่ยงอุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบของกระจกใส รวมถึงมุมแหลมต่างๆ จากอุปกรณ์ที่ติดตั้ง

ห้องส่วนกลางเน้นสีสันหน่อยครับ จะได้มีชีวิตชีวาบ้าง
ซึ่งครอบครัวผมไม่ค่อยเน้นขนาดห้องน้ำใหญ่ๆ ดูวิวอะไรมากมาย

อ่างล้างมือด้านหน้าห้องน้ำแยกออกมาครับ

ห้องน้ำพ่อแม่ครับ

ห้องน้ำผมครับ เน้นขาวๆ ครับ ต้องดูแลหน่อยสำหรับสีนี้

ห้องน้องสาวครับ เน้นปูนขัดมัน

ขออภัยช้านิดนึงนะครับ
หลังปูกระเบื้องเสร็จเริ่มปูพื้นบ้าน งานฝ้า กันต่อ

ผนังมีรอยแตกงงๆ บ้าง ผู้รับเหมาก็มาทำการแก้ให้ในจุดนี้

จนเสร็จเรียบร้อย (ขอตัดภาพไม่ให้เยอะเกินไป)

เริ่มงานห้องครัว ปูกระเบื้องผนัง หล่อเคาน์เตอร์ปูนทรงตัว L ให้หนาหน่อยให้สามารถตำน้ำพริกบนส่วนนี้ได้
ส่วนผนังใช้กระเบื้องปูพื้นผิวหน่อยเพื่อยากแก่การมองเห็นคราบสกปรกต่างๆ รวมถึงใช้กระเบื้องขนาดใหญ่
เพื่อลดคราบตามรอยต่อกระเบื้อง ใช้กระเบื้องสีขาว มีลายนิดหน่อย ดูสว่างจากแสงธรรมชาติ ลดการใช้ไฟในช่วงกลางวัน

เริ่มติดตั้งหินแกรนิตบนเคาน์เตอร์  แบ่งเป็น 3 ส่วนเวลาติดตั้งครับ
ส่วนสีหินใช้ ลายโทนอ่อน ลดคราบการมองเห็น แล้วให้เข้ากับบรรยากาศตัวบ้านที่เน้นสว่าง

ในช่วงนี้งานหน้าต่างอลูมิเนียม ประตู เริ่มเข้ามาติดเพื่อป้องกันนกบินเข้ามาอยู่ตอนกลางคืน

ครัวติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จ พร้อมหน้าต่าง และเหล็กดัดครับ
ส่วนพื้นใช้กระเบื้องสีเบส ด้าน เพื่อลดการมองเห็นคราบต่างๆ ตอนทำครัวครับ

เริ่มปูกระเบื้องพื้นซักล้างครับ

เริ่มติดตั้งปั๊มในบ้านเพื่อป้องกันการขโมย และกันแดดกันฝนยืดอายุปั๊มน้ำครับ
วงจรน้ำ คือ 1.  แรงดันจากน้ำประปาตามปกติ
2. ใช้ถังน้ำสำรองกรณีน้ำไม่ไหล ไหลน้อย น้ำร้อนหรือเย็นเกินไป (จ่ายน้ำผสมน้ำประปาที่ค้างในท่อ)
รวมถึงไม่ต้องการให้ผิดกฎหมายการติดตั้งปั๊มน้ำครับ ส่วนปั๊มใช้ของ K.... 800W ครับ(แอบแรงไปนิด)

ถังเก็บน้ำสำรองของบ้านนี้ครับ ใช้ขนาด 1000 ลิตร
เคยประปาหยุดไหล 1 วัน ใช้น้ำซักผ้าด้วย เหลือเฟือมากๆ

เริ่มงานประตู หน้าต่างรอบบ้าน ประตูมีทั้ง PVC UPVC อลูมิเนียม+กระจก ไม้เนื้อแข็งๆ
ตามลักษณะการใช้งาน และมุมที่อยากให้เห็นครับ ตรงไหนที่ต้องการหน่อยจะใช้กระจกบานใหญ่ไปเลย

ประตูครัวกว้างประมาณ 1.2 ต้องการให้แสงตอนบ่ายทะลุมาบ้างส่วน
และป้องกันกลิ่นตอนทำอาหาร ให้ลมเข้าจากประตูด้านหลัง แล้วออกหน้าต่างครัว
ถ้ากรณีไม่ใช้งานจะเปิดให้ลมผ่านเข้ามา จากด้านใต้ (ประตูครัว) และตะวันตก(หน้าต่างครัว) ครับ

เริ่มงานชายคาหน้าบ้านครับ ทรงจะออกไปทางโมเดิร์นนิดๆ มุมอีก 4.5 องศา
แต่ส่วนนี้หลังคาแบนนี้ ใช้ทรงหลังคาช่วยเบี่ยงน้ำจากหลังคาใหญ่ ให้ไหลไปทางด้านออก
ซึ่งเวลาตกหนักมากๆจริงๆ มีน้ำซึมพอให้เห็นบ้างในส่วนที่หลังคาชนอาคาร ซึ่งจะดำเนินการแก้ๆต่อไป

หมดงานเชื่อมโครงหลังคา เริ่มงานปูกระเบื้องเสาด้านหนาครับ เพื่อเลี่ยงสะเก็ดไฟจากการเชื่อม

จุดนี้เริ่มปูกระเบื้องระเบียงพื้นต่อ ใช้ลายไม้ของ cotto 15*60  cm. ปูสลับ
และตามกรอบประตูหน้าต่างๆ จะใช้ไม้เทียมปิดรอยต่อและกันน้ำอีกครั้งนึง
ในส่วนนี้จะไม่ใช้การปั้นคิ้วปูกันน้ำหยดหนาๆ เพราะพื้นที่นี้นกพิราบอยู่บ้าง กันมาเกาะ อึ หรือทำรัง

แดดบางวัน และตัวบ้านด้านนอก ซึ่งเริ่มติดคิ้วหน้าต่างๆ โดยรอบ

ชายคาหน้าบ้านครับ ใช้เชิงชาย 2 ชั้นครับ ทาสีน้ำมันสีน้ำตาล

พื้นระเบียงด้านหน้าครับ เล่นระดับใช้ลูกขั้นประมาณ 15 cm.
จมูกบันไดใช้สีตัดกันพื้นให้เด่น เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่ในบ้านเห็นได้ชัด
ไม่หวามตกใจ กลิ้งล้มลงไป

มีสลับใช้พื้นลามิเนต 12 มม. แทรกพื้นกระเบื้อง ในส่วนห้องนั่งเล่นกับห้องนอนพ่อแม่
เพื่อป้องกันลื่น และความหนาวเย็นในหน้าหนาว ซึ่งอาจจะพ่อ หรือหลาน เป็นหวัดได้

ส่วนหลังคาหลังบ้านครับ ต้องการให้มีอารมณ์คล้ายๆ รีสอร์ทนิดๆในจุดนี้
ซึ่งเป็นมุมนั่งเล่นของบ้าน ที่ในตอนเช้าสามารถเห็นภูเขาและพระอาทิตย์
ขึ้นในหน้าฝนหน้าหนาว หรือหมอกยามเช้าในหน้าช่วงปลายฝนต้นหนาว
โครงสร้างทาสีน้ำตาลเข้ม มีค้ำยันชายคา เปลือยฝ้าใต้ชายคา

มุมนี้เป็นด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งใช้รับสัญญาณดาวเทียมได้พอดี
และไม่เห็นจากหน้าบ้านให้ดูแปลกตา

ติดตั้งราวบันไดด้านหลังสแตนเลสหลังบ้าน

ระบบไฟฟ้า ซื้อเองครับ เน้นหลอดไฟ LED ทั้งหมด ลดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเปิดหลอดไฟได้ดี
ผลพลอยไๆด้คือติดสว่างไว และประหยัดครับ เทียบบิลค่าไฟฟ้าข้างบ้านมีตกใจ ซึ่งตอนกลางคืนเปิดไฟทิ้งไว้ 3-4 ดวง

จัดวางตามแปลนเพื่อให้ช่างไฟไม่สลับว่า ดวงไฟอยู่ตำแหน่งไหน
หรือดวงไหนใช้หลอดกี่วัตต์ ซึ่งแต่ละห้องใช้วัตต์ไม่เท่ากัน

สวิตช์ และปลั๊กส่วนใหญ่ ใช้เป็นสีดำกรอบสีน้ำตาล
ตัดให้ผนังมีลูกเล่นมากขึ้นและไม่เหลืองสกปรกเวลาใช้ไปนานๆ

ส่วนปลั๊กใช้แบบมีม่านนิรภัยกันหลานเอาอะไรไปจิ้มในรูปลั๊กไฟดูดได้

ส้วมใช้ระบบบ่อเกราะ - บ่อซึม แล้วระบายลงพื้นที่โดยรอบต่อไป
เนื่องจากยังไม่มีท่อระบายน้ำสาธารณะครับ

ทดสอบ ไฟบ้านตอนกลางคืนในระยะแรกครับ

งานสุดท้ายคือทางลาดสำหรับ ผู้สูงอายุ เด็กน้อย
หรือใช้ขนของเข้าบ้านชิ้นใหญ่ ซึ่งขึ้นบันไดลำบาก
มุมเอียงอยู่ที่ 10 องศา ซึ่งเยอะไปนิด อาจเข็นรถขึ้นเองไม่ได้
ซึ่งใช้ไม้เทียมทาสีอะคริลิคครับ ซึ่งทางลาดนี้จะทำเป็นดินถมยกขึ้นมารับเล่นระดับไว้นั่งเล่นในอนาคต

ในอีกระยะหนึ่งจะเพิ่มราวกันตก และทางลาดชนิดเคลื่อนย้ายได้ ช่วงก่อนเข้าตัวบ้านครับ

ช่วงนี้จะเริ่มเอาดินมาถมรับทางลาดเอง ซึ่งเหนื่อยมากกกก 555

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ขอบคุณที่ติดตามรับชมนะครับ
ผมเองไม่ค่อยว่างมาก เลยอาจโพสรูปช้าพอสมควร

หากมีอะไรสงสัย หลังไมค์มาได้ครับ ถ้าพอรู้จะตอบกลับไปนะครับ
ส่วนตัวบ้านยอมรับว่ามีลืมรายละเอียดบ้าง คงต้องปรับแก้กันต่อไป

ซึ่งหลังจากบ้านเสร็จ ก็จะเป็นช่วงลงต้นไม้ก่อนหมดฤดูฝน
แล้วจะเอารูปมาฝากให้ติดชมกันนะครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อัลบั้มภาพ 135 ภาพ

อัลบั้มภาพ 135 ภาพ ของ สร้างบ้านต่างจังหวัด เรียบๆ ยกสูง สีขาว สไตล์ทรอปิคอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook